ในบทความครั้งที่แล้ว เราได้คุยกันถึงความสำคัญของการสอนไวยากรณ์ให้นักเรียนต่างชาติและเราได้พูดถึงหัวข้อไวยากรณ์ไทยที่ควรสอนไปแล้ว 3 หัวข้อ คุณครูที่ได้อ่านบทความนี้คงจะมีหัวข้อดังกล่าวในบทเรียนที่สอนนักเรียนต่างชาติของท่านไปแล้วใช่ไหมคะ วันนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กันต่อค่ะ
อย่างที่ได้กล่าวไว้ในบทความที่แล้วนะคะ ว่าไวยากรณ์มีความสำคัญสำหรับการเรียนในทุกๆ ภาษาเพราะเปรียบเสมือน “แก่นกลาง”ของระบบการสื่อสารด้วยภาษา เพื่อให้ผู้สื่อสารและผู้รับสารเข้าใจสารที่ต้องการส่งถึงกันด้วยระบบเดียวกัน และนี่คือเหตุผลหลักที่ว่าทำไมเราจึงยังต้องให้ความสนใจกับการเรียนไวยากรณ์อยู่
สำหรับไวยากรณ์ไทยอีก 4 หัวข้อที่คุณครูควรสอนนักเรียนต่างชาติของท่านได้แก่
การใช้ Verb to Be ในภาษาไทย – ไม่ว่าภาษาอะไร คำกริยาหลักที่ต้องมีต้องใช้แน่ๆ ในภาษานั้นคือ verb to be และสำหรับภาษาไทยของเรานั้นมีคำที่ใช้สำหรับคำกริยานี้แตกต่างกันออกไป 3 แบบ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “เป็น, อยู่, คือ” ซึ่งใช้ในลักษณะต่างๆกัน และยังมีพ่วงท้ายอีกแบบหนึ่งคือไม่ใช้ verb to be เลยเมื่อประโยคนั้นมีประธานและภาคแสดงหรือส่วนที่ขยายเป็นคำคุณศัพท์ (adjective) เช่น เขาหล่อ เธอสวย ฉันหิว เป็นต้น
Interrogative Word คำที่ใช้แสดงคำถาม – คำแสดงคำถามนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คุณครูควรต้องสอนนักเรียนต่างชาตินะคะ เพราะเรามีคำที่หลากหลายมาก ทั้งคำแสดงคำถามประเภทที่ต้องการคำตอบใช่-ไม่ใช่ (Yes/No question word) และคำแสดงคำถามประเภท ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม อย่างไร ไหน กี่ (WH-question word) นอกจากนี้ คุณครูยังต้องสอนอีกด้วยว่าส่วนใหญ่แล้วตำแหน่งที่เราวางคำแสดงคำถามนี้มักจะอยู่ท้ายประโยค ซึ่งผิดกันกับภาษาอังกฤษที่มักจะวางต้นประโยค
คำตอบสำหรับคำถาม Yes/No – ในภาษาอังกฤษการตอบคำถามที่ต้องการคำตอบเป็น “ใช่/ไม่ใช่” มีคำเฉพาะอยู่แล้วคือ yes สำหรับ “ใช่” และ no สำหรับ “ไม่ใช่” แต่ในภาษาไทยเราไม่ตอบเช่นนั้น ขึ้นอยู่กับว่าคำถามลงท้ายด้วยคำอะไร ในภาษาไทย เรามีคำถามที่ลงท้ายว่า ใช่ไหม หรือเปล่า หรือยัง วิธีตอบของเราก็จะแตกต่างกันไป เช่นตอบว่า ใช่-ไม่ใช่ สำหรับคำถามที่ลงท้ายว่า “ใช่ไหม” หรือตอบรับด้วยคำกริยาในประโยคนั้นสำหรับคำถามที่ลงท้ายว่า ไหม มั้ย หรือ เหรอ และตอบปฏิเสธด้วยการใช้คำว่า”ไม่”หน้าคำกริยาในประโยคนั้น
Classifier ลักษณนาม เอกลักษณ์ของภาษาไทย – ลักษณนามเป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทยที่เป็นเรื่องปวดใจสำหรับนักเรียนต่างชาติในระดับรองๆลงไปจากเสียงวรรณยุกต์เลยทีเดียว เพราะในภาษาอังกฤษไม่มีการใช้คำแบบนี้กับคำนามทุกคำแบบภาษาไทย จะมีก็แต่กับการนับจำนวนสำหรับคำนามที่นับไม่ได้ (uncountable noun) ที่ต้องนับด้วยการชั่ง-ตวง-วัดด้วยหน่วยวัดต่างๆ เช่น แก้ว กิโลกรัม ไมล์ สำหรับการนับจำนวนทั่วๆ ไปนั้น ในภาษาอังกฤษจะเริ่มด้วยตัวเลข + คำนามที่เป็นพหูพจน์ (plural) ถ้ามากกว่า 1 เช่น three dogs แต่ในภาษาไทยเราเริ่มด้วยคำนาม + ตัวเลข + ลักษณนาม จึงใช้ว่า หมาสามตัว คำลักษณนามเหล่านี้ไม่เพียงใช้เพื่อบอกจำนวนนับเท่านั้น แต่ยังมีที่ใช้อย่างอื่นอีกด้วย เช่น เมื่อต้องการใช้กับคุณศัพท์ชี้เฉพาะ (demonstrative adjective) เช่น นี้ นั้น – รถคันนี้ ผู้ชายคนนั้น – หรือใช้กับคุณศัพท์ที่ใช้แยกย่อยคำนาม (distributive adjective) เช่น ทุก แต่ละ – มนุษย์ทุกคน กางเกงขายาวแต่ละตัว เป็นต้น
ผู้เขียนเองเมื่อถึงคราวที่ต้องสอนเรื่องนี้ให้นักเรียนก็มักจะปลอบใจนักเรียนว่า ถึงจะเป็นครูก็ไม่ได้แปลว่าจะจำได้ทุกคำหรอกนะ คนไทยใช้คำเหล่านี้ในชีวิตประจำวันมาตลอด เราก็เลยใช้เป็นธรรมชาติ แต่เราก็มักจะจำคำที่เราพบบ่อยๆ ได้ ถ้าคำไหนไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนักก็ต้องไปเปิดหาเอาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็หมั่นใช้ภาษาไทยบ่อยๆ ก็จะใช้คล่องไปเอง
อย่างไรก็ตาม การสอนไวยากรณ์ให้กับนักเรียนต่างชาตินี้มักจะไม่ได้แยกออกมาสอนเฉพาะ แต่จะสอนควบคู่กันไปกับการสอนฟัง-พูด หรือสอนอ่าน-เขียน แล้วแต่ว่าจะเน้นทักษะใด เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้ถูกต้องนั่นเองค่ะ