top of page

สอนภาษาไทยกับวัฒนธรรมไทยให้นักเรียนต่างชาติ

สอนภาษาไทยกับวัฒนธรรมไทยให้นักเรียนต่างชาติ

คุณครูที่สอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติทราบไหมคะว่าท่านกำลังนำเสนอวัฒนธรรมไทยให้พวกเขาด้วย? บางท่านอาจจะงงกับคำกล่าวนี้ วันนี้เราจะมาดูกันค่ะ ว่าคุณครูสอนภาษาไทยนำเสนอหรือสอนวัฒนธรรมไทยไปด้วยตอนไหน อย่างไร



วัฒนธรรมคืออะไร

 

ถ้าจะดูจากคำจำกัดความของคำว่า “วัฒนธรรม” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้ความหมายของคำนี้ว่า “น. สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่งกาย, วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา” ในขณะที่มีประเด็นการกล่าวถึงความหมายของวัฒนธรรมอยู่มากมายตั้งแต่อดีต หากแต่ผู้เขียนขออนุญาตยกข้อสรุปจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ที่กล่าวว่า

 

“วัฒนธรรม หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต (The Way of Life) ของคนในสังคม นับตั้งแต่วิธีกิน วิธีอยู่ วิธีแต่งกาย วิธีทำงาน วิธีพักผ่อน วิธีแสดงอารมณ์ วิธีสื่อความ วิธีจราจรและขนส่ง วิธีอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ วิธีแสดงความสุขทางใจ และหลักเกณฑ์การดำเนินชีวิต (….)”

 

เมื่อเราพูดถึงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ เราคงพอจะนึกถึงตัวอย่างต่างๆ ต่อไปนี้ได้ เช่น

1.    ภาษาไทยคือ ภาษาพูดที่ใช้สื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ ถึงแม้จะมีสำเนียงที่แตกต่างกันไปบ้างในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการใช้ศัพท์กับบุคคลในระดับต่าง ๆ และอักษรไทยที่ใช้ในภาษาเขียนโดยทั่วไป

2.    การแต่งกายปัจจุบันการแต่งกายของคนไทยในชีวิตประจำวันเป็นสากลมากขึ้น แต่ก็ยังคงเครื่องแต่งกายของไทยไว้ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น ในงานพระราชพิธี งานที่เป็นพิธีการ หรือในโอกาสพบปะ สังสรรค์ระหว่างผู้นำ พิธีแต่งงาน งานเทศกาลและงานประเพณีที่จัดขึ้น หรือในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยอย่างชัดเจน

3.    การแสดงความเคารพด้วยการไหว้และกราบซึ่งแบ่งแยกออกได้อย่างชัดเจน เช่น กราบพระพุทธรูป กราบพระสงฆ์ กราบไหว้บุคคลในฐานะ หรือวัยต่าง ๆ ตลอดจนการวางตนด้วยความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมไปถึงความเกรงใจ ซึ่งยังคงเป็นลักษณะพิเศษของคนไทยจำนวนมาก

4.    สถาปัตยกรรมซึ่งเราสามารถเห็นได้จากชิ้นงานที่ปรากฏในศาสนสถาน โบสถ์วิหาร ปราสาทราชวัง ตลอดจนอาคารและบ้านทรงไทย

5.    ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีประเทศไทยมีการติดต่อกับหลายเชื้อชาติ ทำให้มีการรับวัฒนธรรมของชาติต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม และปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของไทย

6.    ดนตรีไทย กีฬาไทย และการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ

 

ซึ่งเราก็คงจะเห็นแล้วว่า ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยที่ยังคงใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พวกเราในฐานะคุณครูสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสอนที่เน้นการฟังและการพูด หรือการอ่านและการเขียนก็ตาม คุณครูก็ล้วนต้องรวมการสอนคำศัพท์และการใช้คำศัพท์ในหลายแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของไทย เช่น

1.    ภาษาไทยใช้คำลงท้ายประโยคที่เรียกว่า “particles” เพื่อสื่อความหมายต่างๆ – เช่น การใช้คำลงท้ายประโยคบอกเล่าเพื่อแสดงความสุภาพของผู้พูด เช่น “ครับ ค่ะ” หรือใช้คำว่า “ไหม”เป็นการแสดงคำถามเพื่อการตอบรับหรือปฏิเสธ หรือใช้คำว่า “นะ” ในประโยคเพื่อทำให้ประโยคสละสลวยขึ้นไม่ห้วนเกินไป หรืออาจจะเพื่อขอร้องหรือประนีประนอม เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของคนไทยที่ใส่ใจกับผู้อื่น หรือพยายามที่จะไม่ให้เกิดเรื่องวิวาทหรือเข้าใจผิด

2.    ภาษาไทยมีระดับของภาษา ที่สื่อถึงการใช้ภาษากับบุคคลระดับต่างๆ ในสังคมและในบริบทต่างๆ เช่น คำราชาศัพท์ ภาษาราชการที่มีความเป็นทางการ ภาษากึ่งทางการ เช่นภาษาที่ใช้ในการเขียนข่าวและ/หรือบทความ ภาษาแสดงความเป็นกันเอง หรือภาษาปาก คือภาษาที่ใช่ในหมู่คนใกล้ชิดและเพื่อน เมื่อจะใช้สื่อความหมายให้ถูกต้องเหมาะสมจึงจำเป็นต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกกลุ่มถูกระดับ

3.    ภาษาไทยกับการใช้คำเรียก สำหรับการติดต่อราชการ ติดต่อธุรกิจหรือการพูดกับคนที่เพิ่งรู้จัก คนไทยจะใช้คำว่า “คุณ”เป็นสรรพนาม แต่ในอีกแง่หนึ่ง การสนทนาในบริบทที่ไม่ต้องเป็นทางการหรือสามารถเป็นกันเองได้ คนไทยส่วนใหญ่นิยมเรียกผู้ที่ตนสนทนาด้วยว่า “พี่” หากเขา/เธอดูจะมีอายุมากกว่าตน หรือเรียกว่า “น้อง” หากเขา/เธอดูจะมีอายุน้อยกว่าตน หรือเรียก “ลุง” “ป้า” หากคิดว่าเขาอายุมากกว่าตนมาก เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของคนไทยที่ยังให้ความสำคัญกับวัยวุฒิหรืออาวุโส

4.    การใช้คำแทนตัวหรือใช้ชื่อเล่นแทนสรรพนาม – คนไทยส่วนใหญ่มีชื่อตัว (given name) ซึ่งส่วนมากเป็นคำที่มาจากภาษาอื่นเช่นภาษาสันสกฤต และในหลายๆ โอกาสก็ยากแก่การออกเสียง คนไทยส่วนใหญ่จึงนิยมมีชื่อเล่น (nick name) ซึ่งมักจะเป็นชื่อไทยๆ หรือคำไทย มีความหมายบ้างไม่มีบ้าง อาจจะเป็นชื่อสัตว์ต่างๆ แสดงถึงความน่ารักน่าเอ็นดู หรือบางทีก็เพราะอยากให้เป็นมงคลแก่ตัว มีความก้าวหน้า เป็นใหญ่เป็นโตในหน้าที่การงาน ฯลฯ การตั้งชื่อเล่นก็เพื่อให้ง่ายต่อการออกเสียงเรียก และคนไทยส่วนมากก็นิยมที่จะเรียนชื่อเล่นของตนเองแทนสรรพนามบุรุษที่หนึ่งในเวลาที่พูดกับคนอื่น เพราะในภาษาไทยไม่มีคำว่า “I” เพื่อใช้พูดกับผู้อื่นที่ตนสนิทสนมด้วย

 

คงจะเห็นแล้วนะคะว่า การสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาตินั้น คุณครูไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแนะนำวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมไทยของเราให้แก่ผู้เรียนในขณะที่สอนภาษาไทยได้เลย ผู้เขียนหวังว่าคุณครูภาษาไทยทุกท่านคงจะตระหนักในข้อนี้ และช่วยกันส่งต่อประสบการณ์และความรู้สึกดีๆ เกี่ยวกับประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยให้กับนักเรียนของคุณครูไปพร้อมๆ กันด้วยนะคะ

 

 

สำหรับคุณครูที่เริ่มสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว และรู้สึกว่าอยากจะหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อช่วยเปิดโลกทัศน์ของการสอน ตลอดจนเพิ่มพูนทั้งความรู้และทักษะให้แก่ตนเอง เพื่อเพิ่มประสบการณ์การสอนของตนเองให้มากขึ้น ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านลองติดต่อ Thai Kids Academy หรือ TSLTK ดูนะคะ เพราะทางสถาบัน TSLTK มีบริการทั้งคอร์สสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คอร์สอบรมคุณครูสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นครูสอนภาษาไทยออนไลน์หรือออฟไลน์ และยังมีบริการในเรื่องสื่อการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติชนิดต่างๆ ทั้งบทเรียนและแบบฝึกหัด ที่ออกแบบมาและพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลจริงกับผู้เรียนต่างชาติทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาสื่อการสอนเหล่านี้มานานนับสิบๆ ปีทีเดียว และในขณะนี้ก็กำลังผลิตสื่อการสอนสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะที่ใกล้จะวางแผงเร็วๆนี้แล้ว ทางสถาบันฯ พร้อมให้คำแนะนำและบริการคุณครูเสมอค่ะ

bottom of page